วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ต.เต่าหลังตุง

จะว่าไปแล้วเต่าที่มีความสวยงามและโดดเด่น ครองใจผู้เลี้ยงเต่านานนับทศวรรษแล้วละก็คงหนีไม่พ้นเจ้าเรเดียต้า หรืออาจแปลเป็นภาษาไทยได้ไพเราะเพราะพริ้งตามอารมณ์อันสุนทรีย์ของผมเองว่า “ เต่าดารารัศมี ” ในที่นี้ผมจะขอเรียกเจ้าเต่าตัวนี้ว่าดารารัศมี ( ไม่ใช่ชื่อที่ใช้กันอย่างเป็นทางการหรอกนะครับ ) หรือเรเดียต้า สลับไปมาบ้างเพราะผมชอบชื่อที่ดูเป็นไทยๆและในขณะเดียวกันผู้อ่านบางท่านจะได้ไม่สับสนนะครับ เนื่องมาจากลวดลายบนลำตัวที่ดูคล้ายกับแสงรัศมีที่ส่งประกายออกมา ซึ่งลายจะมีความละเอียดกว่าเต่าดาวอินเดีย สิ่งนี้เองที่ทำให้ต้องตาต้องใจผู้พบเห็นยิ่งนัก ดารารัศมีบางตัวมีลายแตกกระจายมากและลายถี่ละเอียด เป็นพิเศษ จะยิ่งมีราคาสูงและเป็นที่ถวิลหาของผู้มีอันจะกินเพื่อนำมาไว้ประดับบารมี เหมือนกับคนรวยที่ขับเบนซ์นั่นหละครับ ยิ่งมีลายสีเหลืองเยอะที่เรียกว่า ไฮเยลโล่ (Hi-yellow) นั้นถือว่าสุดยอดทีเดียว แต่อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับค่านิยมมากกว่า เพราะเต่าทุกตัวผมว่ามีคุณค่าไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ผู้เลี้ยงบางท่านเอาราคามาเป็นตัวตัดสินคุณค่าของมันเท่านั้นเอง รัศมีดาราเป็นเต่าที่อาศัยอยู่บนบก สังเกตได้จากเท้าของมันที่มีลักษณะเป็นนิ้วและเล็บ ไม่มีผังผืดเหมือนเต่าน้ำ ลักษณะเท้าแบบนี้นั้นแสดงว่ามันกิน อยู่ อาศัย บนพื้นดินเท่านั้น ( แต่ก็ชอบลงไปแช่น้ำตื้นๆเพื่อกินน้ำและคลายร้อนได้บ้างเหมือนกัน ) ดังนั้นมันจึงไม่สามารถว่ายน้ำได้ จึงไม่ควรนำเจ้าเต่าตัวนี้ไปใส่ในน้ำเด็ดขาด เดิมทีเจ้ารัศมีดาราตัวนี้มีสนนราคาแพงลิบลิ่วเฉียดครึ่งแสน ซึ่งสำหรับผมนั้นคงเรียกได้ว่าตะกายดาวเลยทีเดียว เพราะว่าเกินเอื้อมจริงๆสำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อยอย่างผม แต่ปัจจุบันลดลงมาอยู่ในระดับที่พอจะหาซื้อได้บ้างในเต่าขนาดย่อมๆ เนื่องมาจากการเพาะพันธุ์และการนำเข้าที่มีปริมาณมากขึ้นทำให้สามารถครอบครองกันได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเรเดียต้าบางตัวราคาก็ยังเอื้อมกันไม่ถึงอยู่ดี
นอกจากความงามแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้มันมีราคาสูงนั้นก็เนื่องมาจาก เป็นสัตว์ที่ติดบัญชี CITES 1 เนื่องจากเรเดียต้าอยู่ในสถานภาพที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงห้ามมีการซื้อขาย ส่งออก และครอบครอง เป็นอุปสรรคสำคัญ แต่ถึงอย่างนั้นในทุกวันนี้เราก็พบเห็นเจ้าเรเดียต้าอยู่เยอะพอสมควร เนื่องมาจากการเพาะพันธุ์ของชาวต่างชาติ แต่บางส่วนก็ยังจับจากธรรมชาติอยู่ ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ใดเพาะพันธุ์ประสบความสำเร็จ

การเพาะพันธุ์

การเพาะพันธุ์
เต่าเรเดียต้าเป็นเต่าขนาดกลาง เมื่อเต็มที่ขนาดประมาณฟุตกว่าๆเท่านั้นเอง จะไปเทียบกับเจ้าซูคาต้าหรือ อัลดาบร้า คงเทียบกันไม่ติด ซึ่งตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ การผสมพันธุ์ก็คล้ายๆกับเต่าบกทั่วไป โดยเมื่อถึงเวลาเต่าจะผสมพันธุ์กันเอง ดังนั้นสถานที่ควรมีบริเวณพอสมควร มีที่หลบซ่อน เพื่อให้เต่าได้ทำการผสมพันธุ์ หลังจากนั้นเต่าตัวเมียจะทำการขุดหลุมเพื่อวางไข่ โดยจะทยอยวางครั้งละ 7-9 ฟอง แล้วเว้นช่วงไป จากนั้นก็จะขุดหลุมใหม่เพื่อวางไข่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าไข่จะหมด เพื่อให้อัตราการฟักสูงผู้เลี้ยงมักขุดเอาไข่ขึ้นมาฟักเองในอุปกรณ์ฟักไข่ ซึ่งจัดเตรียมไว้ให้เหมาะสม ไข่จะใช้เวลาฟักนานประมาณ 200 วันขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ

ถิ่นกำเนิด

ถิ่นกำเนิด
เรเดียต้ามีถิ่นกำเนิดจากเกาะมาดากัสการ์ ซึ่งมันอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีต้นไม้หนาแน่น จึงเป็นต้นกำเนิดของสัตว์ป่าอีกหลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีความชื้นสูง เนื่องจากฝนตกชุก ทำให้เรเดียต้าสามารถทนความเย็นและความชื้นได้พอสมควร แต่บริเวณที่มันอาศัยอยู่นั้นจะมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง และแห้งแล้งแบบทะเลทราย ดังนั้นเรเดียต้าจึงเป็นเต่าที่มีความทนทานในเรื่องอุณหภูมิและการเปลี่ยนแปลงอากาศได้บ้าง ทำให้ผู้เลี้ยงไม่ค่อยหนักใจกับเจ้าเต่าตัวนี้มากนัก แต่อย่างไรก็ดีการที่ให้เต่าตากฝนย่อมไม่เป็นการ ดีต่อสุขภาพของเต่าแน่นอน